18 กรกฎาคม 2552

ภาวะโลกร้อนกับประเทศไทย

ไทยได้รับผลกระทบรอบด้านทั้ง “ภัยแล้ง-น้ำท่วม-ไต่ฝุ่น-แผ่นดินหาย” และนอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ฝุ่นละออง-มีเทนเป็นอีกสาเหตุโลกร้อน ทั้งชนบท-เมืองของไทยต่างก็สร้างต้นตอปัญหา

รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2543 ระบุว่า คนไทย 1 คนปล่อยก๊าซโลกร้อนมากถึงปีละ 2.18 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.8% เมื่อเทียบกับประชากรทั่วโลก

น้ำตกแห้ง

"คม ชัด ลึก" สำรวจน้ำตกที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆ ของประเทศส่วนใหญ่พบว่า ถึงแม้จะเป็นช่วงหน้าฝนปริมาณน้ำที่มีอยู่ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ค่อนข้างมาก จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่า บางแห่งในฤดูแล้งแทบจะไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตกไทรโยคใหญ่ ไทรโยคน้อย ไทรโยคเล็ก

ซึ่งนายธวัชชัย สายชู ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค เปิดเผยว่า เป็นผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจกและลานินญ่า ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทั่วโลก และประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงเช่นกัน

น้ำตกเจ็ดสาวน้อยเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในน้ำตกลดน้อยลง นอกจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ทำให้ดินไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเคย น้ำตกเจ็ดสาวน้อยเป็นส่วนหนึ่งของคลองมวกเหล็ก มีต้นน้ำอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลลงมาในพื้นที่ชุมชน ในอดีตเคยเป็นป่า แต่ปัจจุบันถูกแผ้วถางกลายเป็นเรือกสวนไร่นาของประชาชน จึงไม่แปลกที่น้ำในคลองมวกเหล็กจะลดน้อยลง เพราะดินไม่ชุ่มน้ำเหมือนในอดีต

ซึ่งนอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว มนุษย์ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำในน้ำตกลดลง ปัจจุบันน้ำตกส่วนใหญ่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการสร้างรีสอร์ทและที่พักต่างๆโดยรอบน้ำตก มีการดูดน้ำจากน้ำตกไปใช้ น้ำที่มีน้อยอยู่แล้วเมื่อมีการนำไปใช้จำนวนมากอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่น้ำจะแห้ง

(เครดิต : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก)

ภัยแล้ง-ไต้ฝุ่น-น้ำท่วม

จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่ร้อนขึ้น และความชื้นที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้ภัยธรรมชาติต่างๆเกิดบ่อยครั้งและรุนแรง จะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบ่อยครั้งขึ้นและไม่เป็นไปตามฤดูกาล โดยภาคใต้ของประเทศซึ่งเคยมีพายุไต้ฝุ่นพัดผ่านจะเกิดพายุมากขึ้น และความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงอัตราเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของแนวโน้มอุทกภัยแบบฉับพลันด้วยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย และก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบนิเวศ

ภัยธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่คาดการณ์ว่าจะรุนแรงขึ้น ได้แก่ ภาวะภัยแล้ง เช่น ในช่วงกลางปี พ.ศ 2533 ประเทศไทยต้องประสบกับความแห้งแล้งรุนแรงจากปรากฏการณ์ เอล นินโญ่ ที่เชื่อกันว่าอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ไฟป่าอาจจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นสืบเนื่องมาจากภาวะภัยแล้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น