06 กรกฎาคม 2552

วิกฤตโลกร้อนน้ำตกแห้ง-ป่าลดในไทย

สภาวะโลกร้อนนอกจากจะทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติด้วย โดยเฉพาะน้ำตกชื่อดังของไทย หลายแห่งเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อทั้งด้านความงามและความสมบูรณ์ของผืนป่า แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำที่เคยมีอย่างท่วมท้นกลับลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย

"คม ชัด ลึก" สำรวจน้ำตกที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆ ของประเทศส่วนใหญ่พบว่า ถึงแม้จะเป็นช่วงหน้าฝนปริมาณน้ำที่มีอยู่ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ค่อนข้างมาก จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่า บางแห่งในฤดูแล้งแทบจะไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตกไทรโยคใหญ่ ไทรโยคน้อย ไทรโยคเล็ก

ซึ่งนายธวัชชัย สายชู ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค เปิดเผยว่า เป็นผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจกและลานินญ่า ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทั่วโลก และประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงเช่นกัน

นายธวัชชัย บอกว่า แม้สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคบนเนื้อที่ 5 แสนไร่ ยังคงความสมบูรณ์ มีลำห้วยขนาดใหญ่ไหลผ่าน แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นอยู่ก็ส่งผลต่อปริมาณน้ำในน้ำตกทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากฝนตกไม่ต้องตามฤดูกาล และตกน้อยกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้ปริมาณน้ำในน้ำตกไทรโยคหายไปอย่างเห็นได้ชัด หน้าแล้งแทบไม่มีน้ำ จนอุทยานต้องจัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การเดินป่าและดูนก ฯลฯ

"การบุกรุกป่าขณะนี้ควบคุมได้แล้ว โดยมีแนวร่วมภาคประชาชนเข้ามาร่วมมือกัน ทุกคนเห็นความสำคัญของผืนป่า แต่ที่เป็นปัญหาคือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของโลก อย่างสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในน้ำตกน้อยลงอย่างน่าใจหาย" นายธวัชชัย กล่าว

ไม่ใช่เฉพาะน้ำตกไทรโยคที่เกิดปัญหาปริมาณน้ำในน้ำตกลดน้อยลง นายธวัชชัย ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณหลายปี ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค ก็พบเจอปัญหาลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน นายธวัชชัย บอกว่า หากย้อนไป 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในน้ำตกเอราวัณเกือบแห้งขอด ทั้งที่ก่อนหน้านี้น้ำตกเอราวัณไม่เคยขาดน้ำมาก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำตกเจ็ดสาวน้อยเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นายสมชัย เอื้องทอง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 จ.สระบุรี และยังเป็นคนในพื้นที่ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านใกล้น้ำตกเจ็ดสาวน้อยมากว่า 30 ปี เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบน้ำตกเจ็ดสาวน้อยปัจจุบันกับเมื่อ 10 ปีก่อน ปริมาณน้ำในน้ำตกลดน้อยลงไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร เฉพาะช่วงหน้าร้อนแม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นายสมชัย บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในน้ำตกลดน้อยลง นอกจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ทำให้ดินไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเคย น้ำตกเจ็ดสาวน้อยเป็นส่วนหนึ่งของคลองมวกเหล็ก มีต้นน้ำอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลลงมาในพื้นที่ชุมชน ในอดีตเคยเป็นป่า แต่ปัจจุบันถูกแผ้วถางกลายเป็นเรือกสวนไร่นาของประชาชน จึงไม่แปลกที่น้ำในคลองมวกเหล็กจะลดน้อยลง เพราะดินไม่ชุ่มน้ำเหมือนในอดีต

ขณะที่ น้ำตกสามหลั่น อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น จ.สระบุรี ก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน โดยช่วงหน้าแล้งแทบไม่หลงเหลือสภาพน้ำตกอุดมสมบูรณ์อยู่เลย น้ำที่มีอยู่เป็นเพียงสายน้ำเล็กๆ ไม่เชี่ยวกรากอย่างฤดูฝน ล่าสุดเจ้าหน้าที่ต้องสร้างฝายบนป่าต้นน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ปล่อยลงมาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส กรณีที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่จำนวนมากเท่านั้น

นายสมฤทธิ์ วิไลพรรัตนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น กล่าวว่า ผืนป่าอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่นเคยเป็นป่าเสื่อมโทรม สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นที่ตั้งกองทัพทหารญี่ปุ่น ป่าถูกทำลายไปจนเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ต้องใช้เวลาฟื้นฟูค่อนข้างยาวนาน ปัจจุบันผืนป่าเริ่มฟื้นสภาพตามลำดับ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในน้ำตกลดน้อยลงมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งเรื่องของสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป สภาวะโลกร้อนหรือเอลนีโญ่ และลานินญ่า แต่สำหรับน้ำตกสามหลั่น ต้องยอมรับว่ามีปัญหาการบุกรุกผืนป่า ซึ่งล่าสุดเพิ่งยึดกลับคืนมาได้กว่า 400 ไร่

นายผาด เหมวัตร อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36/3 หมู่ 8 ต.หนองนาก อ.หนองแค จ.สระบุรี อดีตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าพระพุทธฉาย ซึ่งเคยทำงานดูแลผืนป่าในเขตที่น้ำตกสามหลั่นตั้งอยู่ กล่าวว่า ในอดีตน้ำตกสามหลั่นไม่เคยขาด แม้ในหน้าแล้งก็ยังมีน้ำไหลผ่านค่อนข้างเชี่ยวกราก แต่มาระยะ 10-20 ปี หลังผืนป่าพระพุทธฉายถูกบุกรุกทำลายจนเสียหายอย่างมาก ทำให้ป่าไม่สามารถอุ้มน้ำได้เหมือนอดีต ปัจจุบันน้ำตกสามหลั่นในฤดูแล้งแทบไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่เลย มีเพียงโขดหินที่พอจะบ่งบอกได้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นน้ำตกเท่านั้น

ด้าน ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีการวิจัยเรื่องน้ำตกอย่างจริงจัง มีเพียงการคาดการณ์ในหมู่นักวิชาการด้านป่าไม้เท่านั้น ที่ตั้งวงคุยกันในกลุ่มเล็กๆ ต้องยอมรับว่าปริมาณน้ำในน้ำตกต่างๆ ลดน้อยลงไปมากจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะน้ำตกรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ในหน้าแล้งน้ำจะแห้งเกือบทั้งหมด

ศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานอกเหนือจากภาวะโลกร้อนแล้ว เกิดจากปัจจุบันพื้นที่ป่ามีน้อยลง อย่างป่าเขาใหญ่ปัจจุบันเป็นป่าสมบูรณ์เฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนบริเวณรอบนอกกลายเป็นสวน เป็นที่อยู่อาศัย ป่าไม้ที่เคยมีอยู่ในอดีตถูกทำลาย หากดูจากภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ป่าเป็นเหมือนเกาะเล็กๆ เมื่อป่าไม้หายไปความร้อนที่แผ่กระจายมาจากชั้นบรรยากาศก็จะส่องลงผืนดินได้อย่างสะดวก น้ำที่อยู่ใต้ผืนดินก็จะระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว ผืนดินที่เคยชุ่มน้ำจนกลายเป็นแหล่งต้นน้ำก็แห้งลง

ศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ทั้งธรรมชาติและมนุษย์ใช้น้ำในปริมาณมาก ขณะที่แหล่งน้ำต่างๆ ลดน้อยลง ซึ่งทั่วโลกกำลังประสบปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า อีก 50-70 ปีข้างหน้า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้น จนทำให้โลกวิกฤติ อากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว ในฤดูฝนจะเกิดฝนตกหนัก ขณะที่หน้าแล้งน้ำก็จะแห้งเร็ว

"น้ำในน้ำตกน้อยลงสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการระเหยของน้ำใต้พื้นดินที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะดินไม่มีต้นไม้บังแดดเหมือนในอดีต ป่าลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกขณะ หากไม่มีการปลูกป่าทดแทนโดยเร็ว น้ำตกก็ต้องหายไปแน่ แต่คงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะหายไปภายในกี่ปี่" ศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.วิชา นิยม อาจารย์ภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนทำให้กระแสน้ำอุ่นในทะเลเปลี่ยนแปลง ทำให้ไอน้ำในทะเลพัดเข้าสู่ฝั่งแตกต่างไปจากเดิม ทำให้ปริมาณฝนลดน้อยลงไปด้วย ตามหลักการแล้วดินจะเก็บกักน้ำได้ก็ต่อเมื่อปริมาณฝนที่ตกลงมามีไม่ต่ำกว่า 30 มิลลิเมตรต่อครั้ง หากน้อยกว่านั้นก็ทำได้เพียงให้ความชุ่มชื้นกับแผ่นดินเท่านั้น แต่ไม่มีน้ำเก็บใต้ผิวดิน เมื่อโดนแสงแดดก็ระเหยหายไปอย่างรวดเร็ว

นักวิชาการด้านอนุรักษ์วิทยา กล่าวด้วยว่า นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว มนุษย์ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำในน้ำตกลดลง ปัจจุบันน้ำตกส่วนใหญ่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการสร้างรีสอร์ทและที่พักต่างๆโดยรอบน้ำตก มีการดูดน้ำจากน้ำตกไปใช้ น้ำที่มีน้อยอยู่แล้วเมื่อมีการนำไปใช้จำนวนมากอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่น้ำจะแห้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น